เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 1891
เรือพระที่นั่งปาเมียท อาโซวา (Pamiat Azova) กำลังมุ่งหน้าเข้ามาสู่บางกอก นำพาบุคคลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเฝ้ารอ และอยากพบมากที่สุดในช่วงเวลานั้น
มกุฎราชกุมารหรือซาเรวิชนิโคลาสแห่งจักวรรดิรัสเซีย
ตอนนั้นลัทธิล่าอาณานิคมโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส กำลังแผ่ขยายอิทธิพลบริเวณอุษาคเนย์กันอย่างอุตลุต การมาถึงของบุคคลสำคัญจากรัสเซีย หนึ่งในมหาอำนาจของโลกที่ยังไม่มีนโยบายหรือความสนใจในการล่าอาณานิคมบริเวณนี้ จึงเป็นความหวังของสยาม ที่จะอาศัยอิทธิพลของรัสเซียในการทำให้อังกฤษระแวงและฝรั่งเศสเกรงใจ
ภารกิจในการเดินทางของพระองค์คือ การมาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์จุดต้นทาง เพื่อเริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียที่เมืองวลาดิวอสต๊อคและศึกษาดูงานระบบการปกครองในประเทศต่างๆ อันเป็นการสั่งสมบารมีและเสริมอิทธิพลการเมืองทางอ้อมให้กับรัสเซีย
นอกจากนี้ ยังมีพระราชประสงค์แฝงของพระราชบิดา คือ การต้องการให้ซาเรวิช ออกห่างจากแฟนสาวนักบัลเล่ต์ชื่อ มาทิลด้า คเชซินสกาย่า (Matilda Kshesinskaya) อีกด้วย
ทันทีที่มีข่าวว่าซาเรวิชจะออกเดินทางสู่ตะวันออกไกล (ไกลมาก)
จากนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สู่กรุงเวียนนา จนถึงเมืองตรีเอสเต (Trieste) ล่องเรือผ่านกรีก เข้าอียิปต์ แล้วเดินทางสู่เอเชียผ่านคลองสุเอซ เข้าอินเดีย ศรีลังกา สิงค์โปร์ สยาม เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ก่อนจะจบลงที่เมืองวลาดิวอสต๊อค (รวมระยะทางทั้งสิ้นกว่า 51,000 กิโลเมตร )
บรรดาประเทศมหาอำนาจและประเทศที่เกี่ยวข้องกับมหาอำนาจทั้งหลาย ต่างก็ตื่นตัวและจับตากับข่าวการเดินทางครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง
ในตอนนั้น สยามเองก็มีท่าทีแสดงความกระตือรือล้นกับการเดินทางครั้งนี้ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีต่างประเทศโทรเลขถึงอุปทูตสยามที่กรุงเบอร์ลินให้ดำเนินการผ่านราชทูตรัสเซียที่เมืองนั้น เพื่อทูลเชิญซาเรวิชแวะมาที่สยาม
ด้วยเพราะ อังกฤษไม่ต้องการให้ซาเรวิตซ์ประทับใจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสยาม เพราะไม่อยากให้รัสเซียมาข้องเกี่ยวหรือมีอิทธิพลกับภูมิภาคนี้เลย (ฝรั่งเศสก็คงไม่ต่างกัน)
อังกฤษจึงได้สร้างเรื่องโดยการเผยแพร่ตีพิมพ์ข่าวลือจากตัวแทนรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ว่ากรุงเทพฯ เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างหนัก ตัวของซาเรวิชได้รับการแจ้งเตือนจากทางราชสำนักรัสเซียเมื่อพระองค์เสด็จถึงเมืองโคลัมโบ ศรีลังกา ให้ระงับการเดินทางไปสยามไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย และให้ยึดตามกำหนดการเดิมคือ เดินทางจากโคลัมโบ ไปสิงคโปร์แล้วให้ไปไซ่ง่อนเลย
นั่นหมายความว่า สยาม ไม่ได้อยู่ในแผนการของซาเรวิชมาตั้งแต่แรก
โคลัมโบห่างจากสยามด้วยการเดินทางทางเรือประมาณ 1 อาทิตย์ รัฐบาลสยามก็ร้อนใจมากกับข่าวลือนั้น และแผนการรับเสด็จที่เตรียมไว้อย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติสำหรับซาเรวิช…อาจถูกยกเลิก
ตอนนั้นเอง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชบัญชาให้ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงถือพระราชสาส์นส่วนพระองค์เดินทางล่วงหน้าไปรอที่สิงคโปร์ ก่อนที่ซาเรวิชจะเสด็จมาถึง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ของซาเรวิช เป็นการไปล่วงหน้าเพื่ออธิบายถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสยาม และสร้างความมั่นใจว่าจะทรงปลอดภัยในการเสด็จมาเยือน
ในที่สุด ซาเรวิช ก็ทรงเป็นผู้ตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เองในนาทีสุดท้าย ก็เสด็จฯ มาสยามตามคำเชิญของรัชกาลที่ 5
ตลอดเส้นของการเดินทางอันยาวนาน กว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเซนต์ปีเตอสเบิร์กอีกครั้ง ใช้ระยะเวลาถึงเกือบ 10 เดือน
เป็น 5 วันที่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัฐบาลสยาม ทุ่มเทจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ อาจเรียกได้ว่าตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์มา ยังไม่เคยมีงานต้อนรับพระราชอาคันตุกะครั้งใดที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้มาก่อน
สยามใช้เวลา 5 วัน ทำอะไรผูกใจซาเรวิชบ้าง พรุ่งนี้มาดูกัน…