คณะของซาเรวิชนิโคลาสที่เดินทางมาสยามระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2434 ไม่ใช่คณะนักเดินทางจากรัสเซียคณะแรก
ก่อนหน้านั้น ก็มีคณะนักเดินทาง นักสำรวจจากรัสเซีย ก็ได้มาเยี่ยมเยือนสยามประปราย จนต่อมา รัสเซียได้ส่งคณะนายทหารเรือเข้ามากระชับสัมพันธไมตรีอีกสองวาระ คือในปี พ.ศ. 2416 และในปี พ.ศ. 2425
ทางสยามก็ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการมาเยือนครั้งที่ 2 ผู้แทนจากรัสเซีย พลเรือตรี อัสลันเบกอฟ ได้มีโอกาสเข้าร่วมในงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย
อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็ยังแทบจะไม่รู้จักสยามอยู่ดี
ตามบันทึกของเจ้าชายอุคทอมสกี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ติดตามซาเรวิชและเป็นผู้จดบันทึกเรื่องราวในการเดินทางครั้งนี้ เขียนไว้เมื่อมาถึงสยามว่า
“…เราบ่ายหน้าสู่สยามประเทศ ดินแดนแห่งนี้แทบไม่เป็นที่รู้จักสำหรับเราเลย เราน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับแอฟริกากลางหรือชาวปาปัวนิวกินีดีกว่าด้วยซ้ำ…”
แต่เมื่อถึงเวลาที่คณะซาเรวิชต้องออกเดินทางจากสยาม ในบันทึกของเจ้าชายอุคทอมสกี้ กลับเขียนไว้ว่า
“…พรุ่งนี้แล้วที่พวกเราจำจะต้องกล่าวคำอำลาจากดินแดนแห่งความสุขนี้ไป ภาพอันน่าอัศจรรย์และตื่นเต้นมากมายที่เราได้เห็นตลอดสัปดาห์นี้ จะยังคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป การจากประเทศสยามไปในคราวนี้ เหมือนกับต้องแยกจากเพื่อนสนิทที่เรารู้จักมักคุ้นมานาน และจะทำให้พวกเราอาลัยมาก”
จากคนที่ห่างเหินกลายมาเป็นเพื่อนสนิท
“ราวกับรับซาเรวิช”
เป็นประโยคเปรียบเปรยติดปากผู้คนในสมัยนั้น เมื่อต้องการสัพยอกใครต่อใครที่ทำอะไรใหญ่โตหรูหรา เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการของการจัดการต้อนรับซาเรวิชในครั้งนั้น
นับตั้งแต่เรือพระที่นั่งผ่านสันดอนปากแม่น้ำเข้ามายังท่าเทียบเรือ (ท่าราชวรดิฐ) ที่ประดับประดาอย่างงดงาม มีแผ่นป้ายเขียนต้อนรับเป็นภาษารัสเซีย เขียนโดยชาวลัตเวียที่มาแสวงโชคอยู่ที่นี่ กองทหารเกียรติยศสยามบรรเลงเพลงชาติรัสเซียรับเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายการต้อนรับซาเรวิชอยู่ใต้ซุ้มประตู
หลังจากนั้นก็ทูลเชิญเสด็จสู่พระบรมมหาราชวัง มีการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ อันเป็นเครื่องราชฯ ชั้นสูงสุดของไทย ที่สงวนไว้เฉพาะผู้มีกำเนิดเป็นเจ้านายชั้นสูงแก่ซาเรวิชด้วย เป็นการแสดงถึงความยินยอมพร้อมใจรับซาเรวิชเป็นสมาชิกของครอบครัวจักรี
ในระหว่างที่ซาเรวิชประทับอยู่ที่สยามนั้น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซียก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เซนต์แอนดรูชั้นที่หนึ่ง อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของรัสเซียแด่รัชกาลที่ 5 เช่นกัน
ซาเรวิชได้มีโอกาสเสด็จฯ ไปเยี่ยมชมสถานสำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น วัดพระแก้ว ภูเขาทอง พระบรมมหาราชวัง แต่ที่เป็นไฮไลท์สำคัญจริงๆ อยู่ที่อยุธยา
คณะจากรัสเซียได้เดินทางไปยังพระราชวังบางปะอิน มีการจัดงานปิกนิกที่ใหญ่ที่สุดในโลก พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชทานการรับรองในลักษณะของการปิกนิกแบบไทย ไปกันเป็นหมู่คณะราว 3,000-4,000 คน มีเรือเข้าร่วมขบวนเสด็จนับร้อย และที่สำคัญที่สุดคือ การจัดพระราชพิธีคล้องช้างที่เพนียด เป็นพระราชพิธีคล้องช้างที่สมบูรณ์แบบที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด และถือเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยรัตนโกสินทร์
ในบันทึกของฝั่งรัสเซีย โดยเจ้าชายอุคทอมสกี้
“…ห้องพักของพวกเราอบอวลด้วยกลิ่นหอมอ่อนๆ ของพันธุ์พฤกษา และน้ำอบอันรัญจวนใจ ความเป็นเจ้าขอบ้านผู้เอื้อเฟื้อแบบชาวสยามนี้ เราเคยอ่านในบันทึกของนักเดินทางมาบ้าง แต่ก็เพิ่งจะค้นพบด้วยตัวเอง ในวันนี้มันคงเป็นความประทับใจที่คงจะลืมไม่ได้ง่ายนัก”
“…ความประทับใจอย่างหนึ่งที่เราได้รับจากที่นี่ เกิดขึ้นราว 5 โมงเย็นวันนี้ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมาพร้อมด้วยเจ้านายเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ ตลอดจนข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดทั้งหลาย ทุกคนลงไปยังลานกว้างหน้าพระที่นั่ง
ตรงลานกว้างมีประชาชนมารอเข้าเฝ้าเป็นจำนวนมาก ถึงเป็นการรับเสด็จอย่างเรียบง่าย แต่ทุกคนก็กระทำด้วยน้ำใสใจจริง เป็นการแสดงความรู้สึกอันบริสุทธิ์ใจของผู้คนที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย
…..สัญชาตญานของชาวสยามผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของพวกเขาเป็นอานิสงส์ที่ถูกเผื่อแผ่ไปยังองค์รัชทายาทของรัสเซียด้วย
ภาพของการพบปะฉันมิตรและการแสดงความรักใคร่เห็นอกเห็นใจกันที่บางปะอิน ระหว่างสมเด็จพระบรมฯ กับชาวบ้านธรรมดาจะเป็นสักขีพยานให้รำลึกอยู่เสมอว่า มิตรภาพอันบริสุทธิ์ระหว่างเราชาวรัสเซียและชาวสยาม จะดำรงอยู่สืบไปชั่วกาลนาน ในความทรงจำของพวกเราและเขาทั้งหลาย…
…ต่อจากนั้น ก็มีชาวบ้านทั้งชายและหญิงอายุต่างๆ กัน…หอบหิ้ว “ของขวัญ” เข้ามาทูลเกล้าถวาย…ของที่นำมาถวายนั้นถึงจะเป็นของที่ไม่มีราคาค่างวด แต่ก็เป็นของที่ดีที่สุดที่พวกเขามี
บางคนนำนกป่าหรือสัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆ ใส่กรงมา บางคนมีผ้าทอแบบพื้นบ้าน บางคนมีหมอนอิง ที่ไม่ค่อยมีสมบัติอะไรก็ยังอุตส่าห์เก็บผักหรือผลไม้ชนิดงามๆ มาถวายเพื่อไม่ให้เสียกำลังใจ….
ชาวบ้านทั้งหลายนี้คลานเข้ามาใกล้พระเจ้าแผ่นดินของพวกเขาอย่างเงียบสงัด…ทั้งๆ ที่มีคนจำนวนมากถึงสองพันคน
พวกเขาทั้งหมดกก้มศีรษะลงกราบราวกับนัดกันไว้ วางของขวัญไว้เบื้องหน้า …เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับองค์สมเด็จพระบรมฯ (ซาเรวิช) ของเราที่พลอยได้รับความเคารพนับถือไปด้วย ทั้งที่ไม่มีใครรู้จักพระองค์เลย
…และเมื่อพวกเขาได้รับสัญญาณจากพระเจ้าอยู่หัวให้นำของขวัญเข้ามาใกล้พระองค์ ของทั้งหมดที่อาจดูมีราคาเพียงเล็กน้อย กลับกลายเป็นของมีค่ายิ่งในขณะนั้น
แม้แต่รอยยิ้มพิมพ์ใจจากใบหน้าอันบริสุทธิ์ของพวกเขา ยังมีอำนาจพอที่จะทำให้บรรดานกและสัตว์เล็กๆ ทั้งหลาย มีความสำคัญขึ้นมาในทันทีทันใด
มันเป็นภาพที่ทำให้เราตรึงอยู่กับที่…”
พรุ่งนี้มาดูกิจกรรมสำคัญๆ ต่างๆระหว่างซาเรวิชเยือนสยามกันนะคะ
ข้อมูลบันทึกของเจ้าชายอุคทอมสกี้จากหนังสือ “เบื้องหลังการเยือนกรุงสยามของมกุฎราชกุมารรัสเซียมิติการเมืองใหม่สมัย ร.5” โดย คุณไกรฤกษ์ นานา