วาซิลี่ ไซเซฟ วีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียต
สไนเปอร์มือหนึ่งผู้กู้ขวัญและกำลังใจให้รัสเซียยามยาก
ร้อยเอก วาซิลี่ กรีโกริเยวิช ไซเซฟ ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Enemy At The Gate ที่ Jude Law แสดงนำก็คงจะร้องอ๋ออออออ
วาซิลี่หรือชื่อเล่น วาเซีย เกิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1915 ณ มณฑลเทศาภิบาลโอเรนบูร์ก ปัจจุบันคือจังหวัดเชเลียบินสก์ ภูมิภาคเทือกเขาอูราล
ในวัยเด็ก วาเซีย ได้รับการฝึกฝนการยิงอย่างแม่นยำจากคุณปู่และพี่ชายด้วยการล่าหมาป่าและกวาง โดยในวัยเพียง 12 ปี วาเซียก็สามารถคว้าถ้วยรางวัลจากการแข่งแม่นปืนกลับบ้านไปได้
เมื่อถึงวัยเกณฑ์ทหาร วาเซียถูกส่งไปประจำการเป็นทหารเรือ ณ กองเรือแปซิฟิก วลาดิวอสต็อกในภาคตะวันออกไกล เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้นและเยอรมันได้รุกรานสหภาพโซเวียตแบบไม่ทันตั้งตัว วาเซียพร้อมเพื่อนๆอาสาให้ถูกส่งไปยังแนวหน้าในสตาลินกราดซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองอุตสาหกรรมหลัก เมืองถูกตั้งชื่อตามผู้นำในสมัยนั้นคือ โยซิฟ สตาลิน และในสมัยนั้น สตาลินหวังสร้างเมืองสตาลินกราดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ระดับโลกให้สมกับที่มีการนำชื่อของท่านมาเป็นชื่อเมือง ข้างฝ่ายฮิตเลอร์ที่ตอนแรกยกทัพมาหวังบุกกรุงมอสโก หลังบุกไม่ได้ ก็หาทางถล่มกล่องดวงใจของสตาลินให้ย่อยยับในช่วงปี 1942 – 1943 ด้วยการถล่มสตาลินกราดให้กลายเป็นผุยผงเพื่อระบายความแค้นและหาทางเจาะเข้าสู่แหล่งน้ำมันในเชชเนียและอาเซอร์ไบจาน
ข้างฝ่ายสตาลินก็จำเป็นอยู่เองที่ต้องปกป้องเมืองที่มีชื่อของเขาประดับหราอยู่ทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้เสียหน้าประชาชนชาวโลก ในยามที่โซเวียตกำลังยากลำบาก สตาลินกราดยังลูกผีลูกคน ต่างฝ่ายต่างผลัดกันยึดครองและใช้อาวุธทุกอย่างที่มี่ถล่มอีกฝ่ายให้พินาศย่อยยับมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่แม้ว่าการศึกจะดำเนินไปเพียง 200 วัน แต่ทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บล้มตายไปราว 2 ล้านคน ถือเป็นการศึกที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์โลกอีกเหตุการณ์หนึ่ง
วาเซียได้สร้างชื่อจากการสังหารทหารเยอรมัน และเทคนิคการล่าศัตรูแบบไม่เหมือนใคร ทั้งซ่อนตัวอยู่ในท่อ หรือ ดักรอศัตรูโดยไม่ย้ายที่เป็นวันๆ รวมทั้งสิ้น 225 คน ด้วยปืนซุ่มยิง Mosin-Nagant ทางการโซเวียตได้ประกาศยกย่องและประโคมข่าววีรบุรุษจากเทือกเขาอูราลผู้นี้ให้ชาวโซเวียตรู้จักและเป็นขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับศัตรูจนเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว ก่อนศึกสตาลินกราดสิ้นสุดลงเพียงไม่กี่วัน ไซเซฟได้รับบาดเจ็บจากลูกระเบิดปืนครกที่ตกใส่ ต้องทำการรักษาดวงตาอย่างเร่งด่วน ในปีเดียวกันวาเซียได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และหลังจากหายจากการบาดเจ็บได้อาสาไปทำการรบสมรภูมิที่เยอรมันจนกระทั่งได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก
หลังสงคราม วาเซียได้ย้ายไปอยู่ที่เคียฟ ศึกษาต่อด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอจนเป็นวิศวกรสิ่งทอ ไต่เต้าจนกระทั่งได้เป็นผู้อำนวยการโรงงานสิ่งทอที่เคียฟ หลังจากเกษียณอายุ วาเซียก็ยังคงอยู่ที่เคียฟจนกระทั่งถึงแก่กรรมในวัย 76 ปี ในวันที่ 15 ธันวาคม 1991 เพียงสิบวันก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลาย ในวันที่ 31 ม.ค. 2006 หรือราว 15 ปีต่อมา ร่างของวาเซียถูกย้ายกลับมาฝั่งบริเวณอนุสาวรียแม่แห่งรัสเซีย ณ เมืองโวลโกกราด (ชื่อใหม่ของสตาลินกราด) ร่วมกับวีรบุรุษแห่งสตาลินกราดคนอื่นๆอย่างสมเกียรติ
ส่วนเมืองสตาลินกราดนั้นถูกทำลายพินาศโดยสิ้นเชิงจากการศึกที่หนักหน่วง จนต้องเริ่มสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ในปี 1946 กว่าจะได้ฟื้นคืนความเป็นเมืองอุตสาหกรรมดังเดิมก็ใช้เวลาอยู่หลายปี จนกระทั่งเข้าสู่ยุคผู้นำ นายนิกิต้า ครุสชอฟ ได้ทำการเปลี่ยนชื่อเมืองจากสตาลินกราดเป็นโวลโกกราดที่หมายถึงเมืองแห่งแม่น้ำโวลก้าในปี 1961 อันเนื่องมาจากนโยบายล้างบางความเป็นสตาลิน
แลนด์มาร์กของโวลโกกราดที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คืออนุสาวรีย์แม่แห่งรัสเซียเพื่อรำลึกถึงลูกๆชาวรัสเซียที่สละชีพเพื่อชาติ เพื่อปกป้องบ้านเกิดของตัวเองนั่นเอง
การก่อสร้างคุณแม่เริ่มในปี 1959 และเมื่อปี 1967 ที่อนุสาวรีย์ได้ถือกำเนิดมา คุณแม่ท่านเคยได้ชื่อว่าเป็นรูปปั้นที่ใหญ่โตที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันไม่ได้ใหญ่โตที่สุดแล้ว รูปปั้นมีความสูง 85 เมตรตั้งแต่ปลายดาบจนถึงฐาน ตัวคุณแม่เองสูงตั้งแต่เท้าถึงปลายมือ 52 เมตร ส่วนดาบนั้นยาว 33 เมตร ตั้งแต่ตีนเขาจนถึงตัวอนุสาวรีย์มีบันได 200 ขั้น ที่หมายถึง 200 วันของสงคราม
อนุสาวรีย์ออกแบบโดยเยฟเกนี วูเชติช และคุมงานก่อสร้างโดยนิโคลัย นิกิติน ซึ่งความท้าทายในการก่อสร้างก็คือการที่ต้องใช้คอนกรีตมากถึง 7,900 ตัน ขณะที่พื้นดินแบบนี้ก็ไม่ได้แข็งแรงอะไร ปัจจุบันภาพอนุสาวรีย์ได้ปรากฏอยู่ในธงและตราประจำเมืองโวลโกกราด
หน้าตาของคุณแม่นั้น ว่ากันว่าได้มาจากสตรีชาวเมืองคนหนึ่งที่ชื่อ วาเลนติน่า อิซาโตว่า ที่อุตส่าห์มาเป็นแบบให้ ส่วนร่างกายที่กำยำล่ำสันแข็งแรง โดยเฉพาะที่ลำคอนั้นไม่แน่ใจว่าได้มาจากใคร แต่ลีลาท่าทางนั้น บางคนก็ว่าได้มาจากรูปปั้น Winged Victory of Samothrace รูปสลักหินอ่อนเทพีแห่งชัยชนะของกรีซ ที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2
และในอาณาบริเวณอนุสาวรีย์ ยังมีการเจียดพื้นที่เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพนักรบคนดังที่เคยร่วมรบในสมรภูมิสตาลินกราดหลายคน และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือวาซิลี่ ไซเซฟนั่นเอง
ถ้ามีโอกาส โวลโกกราด (Volgograd) คงเป็นอีกจุดหมายปลายทางหนึ่งที่ไม่ควรพลาดการไปเยือนสำหรับคอประวัติศาสตร์รัสเซีย