หลายคนอาจตั้งคำถามกับอาคารสีขาวเก่าแก่หลังนี้ แท้จริงแล้วคืออาคารอะไรกันแน่ สำนักงาน โรงแรม หรือเป็นเพียงตึกร้างเก่าๆ ที่ถูกปล่อยทิ้งว่างไว้ วันนี้เราจะมาย้อนอดีตถึงความเป็นมา เรื่องราว และ ประวัติศาสตร์ของคนรุ่นก่อน ที่บ่งบอกให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของไทยในอดีต
อาคารอีสต์ เอเชียติก หนึ่งในตึกเก่าแก่ ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 40 ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2434 หรือเมื่อประมาณ 130 ปีมาแล้ว โดยในปี พ.ศ. 2427 กัปตัน ฮันส์ นีลส์ แอนเดอร์เซ่น (Captain H N Andersen) นักเดินเรือชาวเดนมาร์ก ได้มาเปิดบริษัทการค้าขึ้นในประเทศไทย (หรือสยามในเวลานั้น) ชื่อ The East Asiatic Company: EAC ประจำกรุงเทพมหานคร (กัปตันเรือคนนี้เคยปรากฏชื่อเป็นเจ้าของโรงแรมโอเรียนเต็ลอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง)
พื้นที่เดิมเคยเป็นบ้านเก่าหลังหนึ่งที่บริษัทได้ใช้เป็นโกดังเก็บสินค้า ส่วนสำนักงานใหญ่ในช่วงเวลานั้นได้เช่าพื้นที่อยู่ในโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ต่อมาบ้านหลังนั้นรื้อทิ้งเพื่อสร้างเป็นอาคาร อีสต์ เอเชียติก (EAC Building) ออกแบบโดย อันนิบาเล ริก็อตติ (Annibale Rigotti) สถาปนิกชาวอิตาเลียน ขณะที่รูปแบบของอาคารได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอเนซองส์ของยุโรป
ตัวอาคารทางเข้าหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีบันไดจากภายนอกเข้าสู่อาคาร ชั้น 2 บริเวณกึ่งกลางอาคาร มีการก่ออิฐฉาบปูน 3 ชั้น ด้านบนเป็นดาดฟ้า การประดับตกแต่งอาคารค่อนข้างเรียบง่าย การทำบันไดทางขึ้นด้านหน้าลักษณะนี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4
ผนังด้านหน้าอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนกลางทำเป็นส่วนเน้น ของอาคาร โดยออกแบบให้ยื่นออกมาจากผนังด้านข้างเล็กน้อย และมีขนาดกว้างกว่าผนังอีก 2 ส่วนที่ขนาบข้าง ด้านบนเป็นผนังที่ก่ออิฐฉาบปูน ทำสัญลักษณ์เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม ยอดโค้งครึ่งวงกลม ภายในปั้นปูนลายสมอเรืออยู่ภายในธง
อาคารชั้น 1 และชั้น 2 ผนังส่วนกลางอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ทำเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน 3 ซุ้ม (ส่วนละซุ้ม) และผนังที่ขนาบด้านข้างทั้ง 2 ข้างแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ทำเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน 2 ซุ้ม ผนังชั้น 2 ของอาคารตกแต่งด้วยลายปูนปั้น บริเวณระหว่างซุ้มโค้งของผนังชั้น 3 แบ่งเป็นส่วนๆ ตามชั้น 1 และ 2 แต่ละส่วนเจาะเป็นซุ้มหน้าต่างโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกันส่วนละ 2 ซุ้ม
ประมาณปี พ.ศ. 2538 บริษัท อีสต์ เอเชียติก ได้ย้ายไปที่อาคารลุมพินีทาวเวอร์ และขายอาคารสำนักงานใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้า พระยาที่มีอายุเกือบศตวรรษนี้ไป
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้ให้เป็นโบราณสถาน และมีการซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2544 และเคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นปี พ.ศ. 2527 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ปัจจุบันอาคาร อีสต์ เอเชียติกอยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท เจริญกรุงสตูดิโอ จำกัด บริษัทบริการให้เช่าสถานที่สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์, โทรทัศน์, ถ่ายภาพ และผลิตผลงานเชิงพาณิชย์ จึงไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปถ่ายภาพด้านใน และด้านหน้าอาคาร จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2561 อาคารนี้ได้เปิดให้สาธารณะได้เข้าชมด้านในเป็นครั้งแรก ซึ่งจัดแสดงผลงานศิลปะในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://marketeeronline.co/archives/112666
วันที่
22-01-2021
เรื่องโดย
@worldexplorer