ในอดีตนั้นเต็นท์หรือกระโจมถูกใช้เป็นที่พักหลักของชนเผ่าเร่ร่อนต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก เช่น ชนพื้นเมืองชาวอเมริกัน(Native American) ชาวเร่ร่อนในมองโกเลีย(Mongolia Nomad) ชาวเร่ร่อนในทิเบต(Tibet Nomad) ชาวอินุย(Inuit) ชาวเบดูอิน(Bedouin) และชาวซามิ(Sami) เต็นท์แบบดั้งเดิมนั้นจึงมีรูปแบบและใช้วัสดุแตกต่างกันไป ตามการใช้งานและสภาพแวดล้อมที่ชนเผ่านั้นๆ อยู่อาศัย
เราจึงอยากชวนคุณไปชมเต็นท์ชนเผ่าแบบต่างๆ ที่นอกจากจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์สำคัญแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวพื้นเมืองเผ่าเร่ร่อนในอดีตอีกด้วย (ซึ่งบางส่วนยังถูกใช้งานจริงมาถึงบัจจุบัน!!!) หากคุณมีความรู้เกี่ยวกับเต็นท์ชนเผ่านอกเหนือจากในบทความนี้ อย่าลืมแบ่งปันข้อมูลกับเพื่อนๆ นักเดินทางได้ที่ Facebook ของเรานะคะ
โนเมดิคเต็นท์(Nomadic Tents) หรือ เต็นท์ชาวเร่ร่อนในทิเบต(Tibet Nomad) เป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของคนเร่ร่อนในเขตภูเขาของเอเชียกลาง เห็นได้มากในประเทศทิเบต(Tibet) มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนของเต็นท์มีช่องเปิดขนาดใหญ่ที่ใช้ในการระบายอากาศและควัน มักทำจากเสาไม้ 8 ถึง 12 เสา และใช้เส้นด้ายปั่นมือจากขนจามรี(Yak) มาทอเป็นตัวเต็นท์ จึงใช้เวลานานประมาณหนึ่งปีในการทำโนมาดิคเต็นท์ขนาดกลาง 1 หลัง
เนื่องจากชนเผ่าเร่ร่อนนั้นมักจะยากจนมาก จึงทำให้พวกเขามีข้าวของส่วนตัวน้อย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเกือบทุกเต็นท์จะมีรูปภาพของลามะท้องถิ่น, องค์ดาไลลามะที่ 14 และผ้าทังก้า(Thangka) หรือ ผ้าพระบฏ คือภาพวาดบนผืนผ้าไหมเป็นรูปเกี่ยวกับความเชื่อของพุทธศาสนาวัชรยานห้อยอยู่ด้านในเต็นท์ด้วย
หลายปีที่ผ่านมาทางการจีนได้โยกย้ายชนเผ่าเร่ร่อนชาวทิเบตจำนวนมาก ออกจากเขตเทือกเขาสูง มาตั้งรกรากใหม่เป็นชุมชนถาวร และบางส่วนก็ย้ายไปอาศัยอยู่ในบ้านดินเหนียวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในโนมาดิคเต็นท์ทอมือแบบดั้งเดิมมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว
เบทอัลชาร์(Beit Al-Sha’ar) เป็นที่รู้จักในชื่อเบดูอินเต็นท์(Bedouin Tent) ที่พักอาศัยของของชาวเบดูอิน(Bedouin) หรือ Bedu กลุ่มคนเร่ร่อนชาวอาหรับที่อยู่ในเขตทะเลทรายของแอฟริกาเหนือ(North Africa) คาบสมุทรอาหรับ(Arabian Peninsula) อิรัก(Iraq) และลิแวนต์(the Levant)
เบทอัลชาร์เป็นเต็นท์ทรงสีเหลี่ยมผืนผ้ามีความสูงไม่มาก อาศัยอยู่ 1 ครอบครัวเล็กต่อ 1 เต็นท์ สามารถเปิดด้านหนึ่งของเต็นท์เป็นพื้นที่สำหรับนั่งเล่น ดื่มชา และรับแขก เรียกว่า มาคฮาด(Makhad) เคยเป็นที่นิยมเนื่องจากเหมาะกับสภาพแวดล้อมที่เป็นทะเลทราย เนื่องจากใช้เสาไม้จำนวนน้อย แล้วคลุมด้วยผ้าขนแพะผีมือการทอของผู้หญิงภายในครอบครัว ทำให้สามารถถอดประกอบและพกพาง่าย แต่จำนวนเสาที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพของผ้าทอก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงความมั่งคั่งและฐานะทางสังคมของครอบครัวเจ้าของเต็นท์ ด้วย
ปัจจุบันชาวเบดูอินจำนวนมากได้ละทิ้งวัฒนธรรมชนเผ่าเร่ร่อนเพื่อไปใช้ชีวิตในเมืองอันทันสมัย แต่ก็มีชาวเผ่าจำนวนหนึ่งที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ แต่ไม่ได้ย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ เหมือนเมื่อก่อน เนื่อจากความแห้งแล้งและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการรวมกลุ่มกัน เป็นกลุ่มเต็นท์ขนาดใหญ่ แล้วพัฒนาให้ประเพณีการขี่อูฐและตั้งแคมป์ในทะเลทรายกลายเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวยอดนิยม
ทีพี(Teepee) หรือ Tipi หรือ Tepee ถือเป็นเต็นท์แบบดั้งเดิมที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยเต็นท์ทรงกรวยนี้มีโครงสร้างที่เรียบง่ายซึ่งประกอบด้วยหนังสัตว์และเสาไม้เท่านั้น(ทีพีสมัยใหม่จะใช้ผ้าใบแทนหนังสัตว์) แต่คงทน ให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว เย็นในฤดูร้อน และแห้งง่ายในช่วงฝนตกหนัก จึงเหมาะจะเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าที่ย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้งอย่างชนเผ่าพื้นเมืองบนที่ราบเกรตเพลนส์(Great Plains) และทุ่งหญ้าแพรรี(Prairies) ทางตอนกลางของทวีปอเมริกาเหนือ(North America) หรือที่รู้จักในชื่อ ชาวอินเดียนแดง(Red Indian) นั้นเอง
สามารถถอดง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก และประกอบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว มีเอกลัษณ์คือการเปิดช่องอากาศที่ส่วนบนของเต็นท์เพื่อให้ควันสามารถระบายออกได้ ปัจจุบันยังมีการใช้งานอยู่เพื่อวัตถุประสงค์ในทางพิธีกรรม
วิกแวม(Wigwam) หรือ Wickiup หรือ Wetu เป็นกระโจมบ้านกึ่งถาวรที่มีลักษณะเป็นโดมขนาดค่อนข้างเล็ก เป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองทางตะวันออกของอเมริกา(Indigenous People of the Eastern Americas) ในอดีต
วิกแวมไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ถอดชิ้นส่วนแล้วเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ใหม่ได้เหมือนเต็นท์ขนาดเล็กอื่นๆ แต่มีข้อดีคือสามารถสร้างได้ง่ายด้วยวัสดุที่หลากหลาย โดยมีโครงสร้างไม้เป็นหลัก แล้วใช้วัสดุอื่นๆ มุง เช่น หญ้า เปลือกไม้ เสื่อ กก หรือผ้า อาจมีบางคนที่สับสนกับ ทีพี(Teepee) ซึ่งเป็นที่พักชั่วคราวของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันเช่นเดียวกัน แต่มีรูปแบบการสร้างและการใช้งานที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ลาฟฟู(Lavvu) ที่พักอาศัยชั่วคราวของชาวซามิ(Sami) ชนเผ่าในแถบสแกนดิเนเวียตอนเหนือ(North Scandinavia) ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของนอร์เวย์(Norway) สวีเดน(Sweden) ฟินแลนด์(Finland) และเมอร์มานสค์ของรัสเซีย(Murmansk Oblast of Russia)